เกี่ยวกับอำเภอเกาะสมุย

 ที่ตั้งและอาณาเขต

เกาะสมุยเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีป  อยู่ตอนกลางของอ่าวไทย  นอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ ๘๔ กิโลเมตร ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๙ องศา ๓๐ ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศาตะวันออก ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร  ๗๕๐ กิโลเมตร ด้วยพื้นที่เฉพาะเกาะราว ๒๒๗ ตารางกิโลเมตร กว้าง ๒๑ กิโลเมตร  ยาว  ๒๕ กิโลเมตร  เกาะสมุยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ  รองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง
     เกาะสมุยเป็นอำเภอหนึ่งในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่  ๕๓ เกาะ  มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ ๓๑๔ ตารางกิโลเมตร ในบรรดาเกาะต่างๆเหล่านี้  เกาะสมุยมีขนาดใหญ่ที่สุดและมีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุด รองลงมาคือ เกาะพลวยเกาะแตน เกาะแม่เกาะ เกาะเชือก เกาะส้ม เกาะวัวจิ๋ว    เกาะหลัก เกาะริกัน เกาะวัวตาหลับ ตามลำดับ สำหรับเกาะที่รวมกลุ่มอยู่กับเกาะพลวยและเกาะแม่เกาะรวมเรียกว่า “หมู่เกาะอ่างทอง” อำเภอเกาะสมุยมีอาณาเขตติดต่อกับทะเลในเขตอำเภอใกล้เคียง  ดังนี้

 

ทิศเหนือ ติดต่อทะเลเขต  อ.เกาะพงัน  จ.สุราษฎร์ธานี  อ.เกาะพงัน  เป็นผืนดินที่อยู่ใกล้ เกาะสมุยมากที่สุดราว  ๑๕  กม.
ทิศใต้            ติดต่อทะเลเขต  อ.ขนอม  จ.นครศรีธรรมราช  อยู่ห่างเกาะสมุย  ๔๐  กม.
ทิศตะวันออก  ติดต่อทะเลอ่าวไทย
ทิศตะวันตก  ติดต่อทะเลเขต อ.ดอนสัก อ.กาญจนดิษฐ์  อ.เมือง อ.ท่าฉาง และ อ.ไชยา   จ.สุราษฎร์ธานี

ทรัพยากรธรรมชาติ
(๑) ทรัพยากรดิน 

     จากการสำรวจทรัพยากรดินในบริเวณเกาะสมุย โดยกรมพัฒนาที่ดินสามารถจำแนกได้เป็น ๘ ประเภท ได้แก่ ดินชุดทุ่งหว้า ดินตะกอนลำน้ำที่มีการระบายน้ำเลว ดินชุดหัวหิน ดินชุดบาเจาะ ดินชุดระยอง ดินชุดโคกตะเกียน ดินชุดไม้ยาว และดินชุดท่าจีน ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่ชุมชน และที่ราบชายฝั่ง แต่จากการพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะสมุย มีการใช้พื้นที่ดินไปเพื่อกิจกรรมการบริการ ที่พัก ตลอดจนกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยว จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมของเกาะสมุย รวมถึงการเปิดหน้าดินลุกล้ำพื้นที่ลาดเชิงเขา เพื่อพัฒนาลายของดินและเกิดความไม่สวยงามของสภาพธรรมชาติ
(๒) ทรัพยากรน้ำ แบ่งเป็นน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน
     น้ำผิวดินหรือน้ำท่า เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะสมุยใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยมีคลองที่สำคัญ คือ คลองลิปะใหญ่ คลองหลังไผ่ คลองลิปะน้อย คลองสระเกศ คลองลาดวานร คลองละไม คลองน้ำจืด คลองท่าเร็ต คลองท่าสียา คลองท่าจีน เป็นต้น โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
     คลองลิปะใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในตัวอำเภอ ตลอดจนกิจการของกองทัพเรือและยังเป็นต้นกำเนิด “น้ำตกหินลาด” สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาะ
     คลองลิปะน้อย ในตอนเหนือคลองมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่เรียกกันว่า “วังไม้แดง” และมีการสร้างฝายน้ำล้นเพื่อให้ชาวบ้านตำบลลิปะน้อยใช้ประโยชน์ในการเกษตร
     คลองสระเกศ เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับเกษตรกรบ้านตลิ่งงามโดยมีต้นน้ำจากภูเขาใหญ่
     คลองละไม หรือ คลองท่าศก มีต้นน้ำสองสาย คือ คลองท่าศก และ คลองวังกลั้ง ไหลมารวมกันในบริเวณที่เรียกว่า “พังลุงนก” นอกจากคลองท่าศกแล้ว ชาวบ้านตำบลมะเร็ตยังได้ประโยชน์จากคลองมะเร็ตอีกแห่งหนึ่ง
     คลองท่าสียา ในอดีตเรียกว่า “คลองศรีไชยา” เป็นคลองขนาดใหญ่ มีต้นกำเนิดจากภูเขาใหญ่กลางเกาะไหลผ่านเทือกเขาสูงลงสู่ที่ราบของตำบลหน้าเมืองผ่านหน้าผาสูงทำให้เกิด  “น้ำตกหน้าเมือง”  ที่สวยงามและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเกาะสมุย  ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของคลองสายนี้  จึงมีการสร้างฝายน้ำล้นถึง ๖ แห่ง เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวหน้าเมือง
     คลองท่าจีน มีต้นกำเนิดจากภูเขาด้านทิศใต้ของตำบลแม่น้ำ มีฝายน้ำล้น ๒ แห่ง หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวตำบลแม่น้ำทางด้านเหนือของเกาะ 
     นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำที่เป็นหนองน้ำ (พรุ) อีก ๒ แห่ง คือ หนองน้ำตำบลหน้าเมือง  (พรุหน้าเมือง) และหนองน้ำตำบลบ่อผุด (พรุเฉวง) ซึ่งปัจจุบันแหล่งเก็บน้ำสำคัญของชุมชนเฉวง
     อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมาพื้นที่เกาะสมุยได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคและเพื่อการเกษตรบางส่วนกระจายอยู่บริเวณรอบเกาะ ได้แก่ ฝายคลองน้ำจืด เขื่อนท่าสัก ฝายวังเสาธง ฝายน้ำตกหน้าเมือง ฝายวังหินลาด ฝายคลองแม่น้ำ ฝายคลองพังเพ และฝายคลองละไม เป็นต้น  แต่สภาพเหมืองฝายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและกระจายตัวไม่ทั่วถึง  โดยเฉพาะการขยายตัวของการพัฒนาการท่องเที่ยวของเกาะสมุยที่ค่อนข้างรวดเร็วยิ่งทำให้น้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ  โดยเฉพาะฤดูแล้ง ปัจจุบันมีเจ้าของธุรกิจบางรายขุดน้ำบาดาลเพื่อใช้บรรเทาปัญหาในหน้าแล้ง และคาดว่าจะส่งต่อเกษตรกรรมในระยะยาว  โดยเฉพาะพืชสวน  ซึ่งมีระดับน้ำคลองธรรมชาติระดับลง ทำให้ทุกพื้นที่มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ ในอนาคต
(๓) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า
     ป่าไม้  เกาะสมุยนับว่าเป็นบริเวณที่มีความสำคัญทางด้านสัตววิทยาบริเวณหนึ่งของประเทศ เนื่องจากการที่มีสภาพป่าดงดิบชื้นปกคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะภูเขาใหญ่และเขาขวางมีป่าไม้หนาแน่น  แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นสวนมะพร้าวและสวนผลไม้เป็นสวนใหญ่ ทำให้สภาพป่าดั้งเดิมเหลืออยู่น้อยมาก โดยคงหลงเหลืออยู่ตามภูเขาสูง หน้าผาที่ลาดชันมากๆและบริเวณน้ำตก ๒ แห่ง คือ น้ำตกหินลาด ตั้งอยู่ห่างจากตลาดหน้าทอนประมาณ ๓ กิโลเมตร และน้ำตกหน้าเมือง ตั้งอยู่ห่างจากตลาดหน้าทอน ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองแห่งไม่มีสภาพเป็นน้ำตกอย่างแท้จริงแต่เป็นทางน้ำไหลมาจากเขาพลูผ่านหน้าผาสูงประมาณ ๒๐ เมตร ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างของเกาะ กรมป่าไม้ได้จัดให้เป็นวนอุทยานน้ำตกหน้าเมือง  (ผาหลวง)  มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่  นอกจากนี้ได้กำหนดให้น้ำตกหินลาดในท้องที่ตำบลอ่างทอง ตำบลแม่น้ำ  และตำบลลิปะน้อย  มีเนื้อที่  ๖,๙๔๓ ไร่ ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗
    สัตว์ป่า  ส่วนสัตว์ที่พบบนเกาะสมุยทั้งบนบกและในทะเลนั้น  มีจำนวนและชนิดลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้เกิดจากกิจกรรมต่างๆ  ของมนุษย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแผ้วถางป่าธรรมชาติ  การใช้ที่ดินทำการเพาะปลูก  และการพัฒนาบริการทางการท่องเที่ยว  เมื่อมีกิจกรรมต่าง ๆ  และนักท่องเที่ยวเข้าออกไปมาจะมีผลโดยตรงต่อสัตว์  เช่น  การส่งเสียงดังรบกวนทำให้สัตว์หนีไป  การทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งจะทำให้จำนวนสัตว์ลดปริมาณลงและสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ในที่สุด
(๔) ทรัพยากรท่องเที่ยว
     เกาะสมุยมีทรัพยากรท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการพัฒนาซึ่งแบ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ ได้แก่หาดทราย น้ำตกและแนวปะการัง ประเภทประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ประเภทศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมท้องถิ่น โดยสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะสมุย คือ เป็นสถานที่ตากอากาศในภูมิภาคเขตร้อนที่มีแสงแดด ทะเล หาดทราย ปะการังที่สวยงามและมีความเงียบสงบ ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ รวมถึงอัธยาศัยไมตรีของชาวพื้นเมืองในท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบเสริมให้ทรัพยากรหลักมีค่ามากยิ่งขึ้น  แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอเกาะสมุย

ตำบลอ่างทอง หาดหน้าทอน     น้ำตกหินลาด   น้ำตกซองเรือ  
ตำบลลิปะน้อย หาดลิปะน้อย   หาดท้องยาง   น้ำตกลาดวานร
ตำบลตลิ่งงาม อ่าวพังกา   อ่าวท้องกรูด   เจดีย์แหลมสอ   ฟาร์มงูพังกา
ตำบลหน้าเมือง  น้ำตกวังเสาธง   น้ำตกหน้าเมือง1    น้ำตกหน้าเมือง 2    วัดประเดิม   วัดคุณารามพระพุทธบาทเขาเล่
ตำบลมะเร็ต หาดละไม   หาดท้องตะเคียน   หินตาหินยาย อ่าวแหลมเส็ต   สวนผีเสื้อสมุย สมุยอะควาเรี่ยม   วัดราชธรรมาราม(วัดศิลางู)   หอวัฒนธรรมบ้านละไม     วัดสำเร็จ     สำนักปฏิบัติธรรมทีปภาวันธรรมสถาน
ตำบลบ่อผุด จุดชมวิวลาดเกาะ   หาดเฉวง   หาดบ่อผุด หาดเชิงมน   หาดบางรักษ์               พระใหญ่เกาะฟาน     ศูนย์ลิงสมุย
ตำบลแม่น้ำ หาดบางปอ   หาดแม่น้ำ   หาดบ้านใต้   น้ำตกธารเรือ วัดหน้าพระลาน  

 

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น