ประวัติความเป็นมาของอำเภอเกาะสมุย

1020otherb1[1]

ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของอำเภอเกาะสมุย    ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ไดค้นพบวัตถุต่าง ๆ บริเวณอ่าวบ้านดอนซึ่งได้ค้นพบ “ขวานหิน” ซึ่งสันนิษฐานว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของมนุษย์ มาตั้งแต่เมื่อ 1,200 – 2,000 ปีมาแล้ว (แนวสังเขปของโบราณคดีรอบอ่าวบ้านดอน : พระครูอินทปัญญาจารย์ หรือ ท่านพุทธทาสภิกขุ)
 เกาะสมุยเป็นอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณรอบอ่าวบ้านดอนได้มีการค้นพบขวานหินลักษณะเดียวกันโดยชาวบ้านเรียกว่า “ขวานฟ้า” เป็นขวานหินลักษณะรูปขวานและเชื่อกันว่าคนสมัยนั้นได้ใช้เป็นอาวุธสำหรับล่าสัตว์เป็นอาหาร
    โบราณวัตถุอีกอย่างหนึ่งซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า เกาะสมุยเป็นแหล่งที่มีผู้คนอาศัยมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์คือการค้นพบกลองมโหระทึกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2520 ที่วัดคีรีวงการาม ตำบลตลิ่งงามจำนวน 2 ใบ
    สำหรับกลองมโหระทึกที่ค้นพบ นักวิชาการทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ยืนยันว่ากลองมโหระทึก 2 ใบทำด้วยโลหะสัมริด มีแหล่งผลิตอยู่ในเวียดนามตอนเหนือ ดังนั้นเจ้าของกลองมโหระทึกบนเกาะสมุย อาจจะเป็นนักเดินทางมาจากที่อื่น ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่(ชั่วคราว)บนเกาะกลองมโหระทึกใบหนึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ด้านข้างกระพุ้งกลองมีรูปเรือที่มักเรียกว่า “เรือส่งวิญญาณ” เป็นเรือยาวๆ มีหัวและท้ายโค้งขึ้นเล็กน้อย ในเรือมีนกและคนครึ่งนก ที่หัวประดับขนนกอยู่หลายคน ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า   ผู้คนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางขึ้นไปอาศัยบนเกาะสมุยเมื่อไม่น้อยกว่า 2,000 ปีมาแล้ว และจะต้องมีความชำนาญในการเดินเรือเป็นอย่างดีเพราะการสลักลวดลายเป็นรูปเรือ เพื่อส่งวิญญาณคนตายเช่นนี้ ย่อมเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการเดินทะเลอย่างเชี่ยวชาญมาแล้ว
    เชื่อกันว่าคนที่มาตั้งรกราก สร้างบ้านเรือนบนเกาะสมุยในยุคแรก อาจจะในลักษณะของการแสวงหาโชคหาแหล่งทำกินใหม่ หรือด้วยเหตุบังเอิญ เช่น หลบลมมรสุมมาแวะจอดเรือเป็นครั้งคราวหรือการขึ้นมาหาน้ำจืดส่วนผู้คนถิ่นเดิมหรืออพยพเข้ามาสู่เกาะสมุยนั้น ตามสันนิษฐานของพระครูอินท-ปัญญาจารย์ ได้พบร่องรอยและหลักฐานมากมายพอที่จะเชื่อถือได้ว่า ชนชาวอินเดียได้เข้ามาเกี่ยวข้องในดินแดนแถบอ่าวบ้านดอนไม่น้อยกว่า 2,000 ปี ส่วนคนไทยที่เข้ามาทีหลังชาวอินเดียเล็กน้อย สำหรับคนพื้นเมืองเดิม
ซึ่งอยู่ก่อนชาวอินเดียและคนไทยนั้น เชื่อกันว่าเป็นพวกมาลายู ซึ่งพวกนี้มีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับคนไทยปักษ์ใต้ในปัจจุบัน ต่อมาได้แต่งงานกันจึงทำให้คนไทยส่วนใหญ่ในแถบนี้มีเลือดผสมถึงสามสายด้วยกัน คือ มาลายู อินเดีย และไทย ต่อมาภายหลังมีเชื้อสายจีนอีกเชื้อสายหนึ่ง
    สำหรับคำว่า “สมุย” หรือชื่อเกาะบริวารอื่น ๆ จะเป็นภาษาใด มีความหมายอย่างไร หรือแปลว่าอย่างไรนั้นยังไม่มีหลักฐาน ยืนยันแน่ชัดลงไป แต่มีผู้รู้หลายท่านได้ไห้ข้อสังเกตไว้ว่า คนโบราณนั้นชอบเรียกชื่อสถานที่ต่างๆ โดยอาศัยเหตุผลอยู่สองสามประการ คือมักจะเอาชื่อบุคคล ชื่อต้นไม้ หรือชื่อสภาพทางภูมิศาสตร์มาตั้งเป็นชื่อ ท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นหากดูตามข้อสังเกตข้างต้นแล้ว  คำว่า “สมุย” ย่อมจะมีที่มาและความหมายต่างๆ กันไปตามข้อสันนิฐานของ อาจิณ จันทรัมพร 1. “สมุย” น่าจะเป็นคำในภาษามาลายู เพราะเมื่อได้ตรวจสอบรายชื่อต่างๆ ในทะเลรอบอ่าวบ้านดอน ตลอดจนชื่อตำบล หรือสถานที่บางแห่งของดินแดนแดนส่วนนี้มีชื่อซึ่งไม่ใช่ภาษาไทยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ชื่อเกาะสมุย พะงัน วัวตาหลับ พะลวย เป็นต้น ชื่อตำบลเฉงอะ กระแดะ ฉะโหละ ละแม โมถ่าย เป็นต้น และที่เกาะสมุยมีชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นภาษามาลายู คือ บ้านลิปะน้อย และลิปะใหญ่ ซึ่งภาษามาลายูแปลว่า “คลองน้ำ” ซึ่งมีความหมายตรงกับสภาพภูมิประเทศ ที่มีลำคลองไหลผ่าน  นอกจากนี้ที่ชวนให้เข้าใจว่าเป็นภาษามาลายู เพราะที่เกาะพะงันก็มีชื่อทำนองนี้อยู่มาก เช่น ฉะโหละ นั้นคำมาลายูว่า ดาโละ แปลว่า อ่าว ส่วนหลำนั้น คำมาลายูว่า ดาลำ หรือ ตาลำ แปลว่าลึก เมื่อรวมกันเป็น ดาโละตาลำแปลว่า อ่าวลึก ซึ่งเมื่อพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ที่นั่นมีสภาพเป็นอ่าวลึกจริง ๆ

 2. “สมุย” เป็นคำมาจากภาษทมิฬอินเดียใต้ คือมาจากคำว่า “สมอย” ที่แปลว่า คลื่นลม ต่อมาคำว่าสมอย ได้เปลี่ยนเป็นคำว่า “สมุย”

 3. “สมุย” มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคใต้ เป็นไม้เนื้ออ่อน ต้นไม่โตนัก ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ต้นหมุย ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไป ในพื้นที่เกาะสมุย และสันนิฐานว่า ต้นหมุยนี้ มาจากคำเต็มว่า ตนสมุย ทั้งนี้เนื่องจากภาษาปักษ์ใต้ มักจะตัดตัวหน้าออก เพื่อพูดให้สั้น เช่น มะพร้าว ก็เรียกว่า พร้าว มะม่วง ก็เรียกว่า ม่วง เกาะสมุย ก็เรียกว่า เกาะหมุย เป็นต้น

 4. “สมุย” เป็นภาษาจีนไหหลำ มาจากคำว่า “เซ่าบ่วย” ซึ่งคนจีนไหหลำ เรียกเกาะสมุยว่า เซ่าบ่วย แปลว่าเกาะแรกหรือด่านแรก ประตูแรก ซึ่งเมื่อประมาณ 100 ถึง 150 ปีมาแล้ว คนจีนที่เกาะไหหลำ ได้นำสินค้า มาขายยังประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ การจะเดินทางไป – กลับจึงได้มาจอดแวะที่เกาะสมุย เพื่อจอดรับเอาสินค้าที่เกาะสมุยก่อน จำพวกไต้ กะปิ มะพร้าว เป็นต้น ดังนั้นคำว่าเซ่าบ่วย เมื่อเรียกนาน ๆจึงเพี้ยนไป
กลายเป็น “สมุย”

 5. “สมุย” มาจากคำของพวกโจฬะ แปลว่า คลื่นลม คือเมื่อประมาณ พ.ศ.1300 สมัยอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรืองทางภาคใต้ พวกโจฬะเป็นพวกชาวเรือ ได้ตั้งชื่อ เกาะสมุยว่า เป็นเกาะแห่งคลื่นลม

     จากความหมายและที่มาของคำว่า “สมุย” ดังกล่าวข้างต้น มีความน่าจะเป็นไปได้ทั้งนั้น เพียงแต่ขาดหลักฐาน ยืนยันที่แน่ชัด ดังนั้นจึงไม่สามารถหาคำสรุปได้ว่า “สมุย” มาจากภาษาใด และมีความหมายที่ถูกต้องว่าอย่างไร

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ไม่มีหมวดหมู่ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น